ประวัติของโรงเรียนโดยสังเขป 

                โรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๘ที่เขตปทุมวัน โดยมิชชั่นนารีชื่ออาจารย์ เอ.พี.ริตธ์ขณะนั้นโรงเรียนมีชื่อว่า “โรงเรียนเทพประสาท” ผู้รับใบอนุญาต  ผู้จัดการ  และครูใหญ่  คนแรกคือ อาจารย์บรรเจิด  ชลวิจารณ์  เมื่อแรกเปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เกิดไฟไหม้อาคารเรียน ทางโรงเรียนจึงสร้างอาคารเรียนใหม่เป็นอาคารปั้นหยา ๒ ชั้น ลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้  ในวันที่ ๙  กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒  โรงเรียนจึงได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นอีกครั้งมีลักษณะเหมือนเดิม  และต่อมาได้สร้างอาคารเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓แต่เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี  จนในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงได้ย้ายระดับมัธยมศึกษาไปตั้งอยู่ที่เลขที่ ๕๗ ซอย ปรีดีพนมยงค์๓๑ สุขุมวิท ๗๑ เขตกรุงเทพมหานคร(คือที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน) และตั้งชื่อว่า  “โรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัย”  ปัจจุบันมีการขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้นจากชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖  และยังได้ขอเปิดสอนหลักสูตรโปรแกรมภาษาอังกฤษ (English Program) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖

ลำดับการอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัยจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดังต่อไปนี้

ลำดับที่ ๑ใบอนุญาตให้สมาคมเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสมิชชั่น ลงนามแทนโดย นายเปล่ง วิเทียมลักษณ์เป็นเจ้าของจัดตั้งโรงเรียนประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

ลำดับที่ ๒   ใบอนุญาตให้สมาคมเซเว่นเดย์แอ๊ดเวนตีสมิชชั่นเป็นเจ้าของจัดตั้งโรงเรียนประเภทโรงเรียนมัธยมวิสามัญศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒

 ลำดับที่  ๓  ใบอนุญาตให้มูลนิธิคริสตจักรวันเสาร์แห่งประเทศไทย โดย นายฉลี ชื่นชอบ เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนประเภทสามัญศึกษา เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่3ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ชื่อว่า “โรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัย”ในเวลาต่อมาได้ขอขยายชั้นเรียนจากชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

ลำดับที่ ๔   มูลนิธิคริสตจักรวันเสาร์แห่งประเทศไทยเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทย ตามบัญชีมูลนิธิฯ หรือหนังสือให้ อำนาจจัดตั้งเปลี่ยนแปลงมูลนิธิฯ ณ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๔ ดังนั้น โรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัยจึงอยู่ภายใต้มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ปรัชญาโรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัย   :      “มุ่งพัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์”

ต้นไม้ประจำโรงเรียน    :    “ ดอกราชพฤกษ์”

ตราประจำโรงเรียน

ตราของโรงเรียนมีลักษณะเป็นวงกลมสองวงซ้อนกัน ในระหว่างวงกลมสองวงด้านบนเป็นซื่อโรงเรียน “โรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัย” ด้านล่างเป็นชื่อเขตการปกครอง “เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร” ภายในวงกลมวงใน ตรงกลางเป็นรูปหนังสือเปิดกางออก ด้านบนของหนังสือเป็นรูปเปลวเพลิง ตรงกลางหนังสือเป็นรูปไม้กางเขน มีอักษรภาษาอังกฤษ “AES”  และ “๑๙๓๕” สองข้างโอบล้อมด้วยรูปรวงข้าว

ความหมายของสัญลักษณ์ในตราของโรงเรียน

  • หนังสือ หมายถึงพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ไบเบิลอันเป็นคำตรัสสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นที่มาของความรู้ทั้งปวง หนังสือที่เปิดกางอยู่นั้นหมายถึงโรงเรียนยึดถือคำสอนในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ไบเบิลเป็นพื้นฐานของการจัดการศึกษา
  • รูปไม้กางเขน หมายถึงข่าวประเสริฐแห่งความรอดโดยองค์พระเยซูคริสต์อันเป็นสาระสำคัญของข่าวสารประเสริฐแห่งการไถ่ให้รอด
  • เปลวเพลิง หมายถึงการศึกษาที่เปรียบเหมือนแสงสว่างที่จะส่องเข้าไปในทุกหนแห่งเพื่อขับไล่ความมืด คือความชั่ว ความไม่รู้ให้หมดสิ้นไป
  • “AES” คืออักษรย่อชื่อของโรงเรียนในภาษาอังกฤษ “Adventist Ekamai School” ส่วนอักษรย่อชื่อของโรงเรียนในภาษาไทยคือ “อ.อ.”
  • “๑๙๓๕” คือปีคริสตศักราชที่ก่อตั้งโรงเรียน
  • รูปรวงข้าว หมายถึง ความเจริญงอกงาม ผลผลิตที่เกิดจากความวิริยะอุตสาหะ

คำขวัญ

“เสริมสร้างปัญญา พัฒนานิสัย รักษาอนามัย ใส่ใจจิตวิญญาณ”


สีประจำโรงเรียนฟ้า – แดง

สีฟ้า  หมายถึง  ธรรมะอันเป็นคำสอนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสสอนซึ่งบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล

สีแดง  หมายถึง  ความรัก ความเสียสละ, พระโลหิตของพระเยซูคริสต์

ระเบียบว่าด้วยการมาเรียน

 นักเรียนควรมาโรงเรียนตามเวลาที่โรงเรียนกำหนดเพื่อทันที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน เช่น กิจกรรมหน้าเสาธง (ร้องเพลงชาติ กล่าวคำสดุดี รับฟังคำแนะนำและประกาศที่สำคัญต่างๆ ของโรงเรียน ฯลฯ) ตามระเบียบของโรงเรียน นักเรียนควรมาถึงโรงเรียนก่อนเวลา 07.20 น. เพื่อทันเข้าร่วมกิจกรรมหน้าเสาธง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนและมีความสำคัญด้วย

  • นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา (ม.1 – ม.6, IP.7-12) หากมาไม่ทันเวลา 07.20 น. แต่ ไม่เกิน 07.30 น. นักเรียนต้องปฏิบัติกิจกรรมหน้าเสาธงให้ครบถ้วน และจะถูกบันทึกการมาสาย
  • นักเรียนที่มาสายหลังจาก 07.30 – 08.00 น. นักเรียนจะถูกบันทึกการมาสาย
  • นักเรียนมาสายถึง 22 ครั้ง ต่อปีการศึกษาจะต้องเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • นักเรียนที่มาสายหลังจาก 10.00 น. เป็นต้นไป ทางโรงเรียนอาจจะไม่อนุญาตให้นักเรียนเข้าเรียนยกเว้นมีเหตุจำเป็น
  • นักเรียนที่ไม่เข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะต้องมาทำกิจกรรม 80 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับชั้นต่อไป